มัสยิดเจริญอิสลาม
ม.15 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 089-1280653
ประวัติความเป็นมามัสยิดเจริญอิสลาม
ประมาณก่อนปี พ.ศ. 2458 ได้มีประชาชนมุสลิมอพยพมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรากรุงเทพมหานคร โดยมีบุคคล 3 ท่านเป็นผู้นำมา คือ
1. โต๊ะกีซอและฮ์ วงสมัน มาจากหลอแหล กรุงเทพมหานคร
2. โต๊ะกีชม มาลี มาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3. โต๊ะกีลี แสงวงษา มาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา
ได้พาลูกหลานมาเช่าที่ของหม่อมประภัสสร เกษมศรี ณ อยุธยา อยู่อาศัย ทำนา ส่วนตัวโต๊ะกีซอและฮ์ และครอบครัวไม่ได้ทำนาแต่ค้าขายวัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้รวก จาก ตะปู เป็นต้น ได้ปรึกษาบรรดาชาวบ้านในเรื่องการสร้างมัสยิด โดยไปเรียนขออนุญาตหม่อมประภัสสร โดยอนุญาตปลูกสร้างที่ปากคลองสองใกล้คลองระพีพัฒน์เขตติดต่ออำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์ของพื้นที่ ที่ชาวบ้านมาเช่าทำนา ตัวมัสยิดพื้นเป็นไม้รวก ฝามุงด้วยจาก โดยโต๊ะกีซอและฮ์กับชาวบ้านช่วยกันบริจาคเงิน วัสดุก่อสร้างและกำลังกายก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และได้ประชุมตั้งชื่อว่า “มัสยิดเจริญอิสลาม” ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นทางการ ประมาณ ปี พ.ศ. 2490 โต๊ะกีซอและฮ์ได้มอบหมายให้โต๊ะกีหวัง วงสมัน ซึ่งเป็นน้องชายดำรงตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิดเจริญอิสลาม อิหม่ามหวัง วงสมัน ได้ย้ายมัสยิดจากที่เดิมมาสร้างใหม่ห่างจากที่เดิมประมาณ 500 เมตร ตัวมัสยิดเป็นพื้นไม้กระดาน เสาไม้จริง หลังคาสังกะสี ฝาจาก และมีอาคารอเนกประสงค์หรือซุบโต๊ะฮ์ (บาแล) ในเวลาเดียวกันได้สร้างโรงเรียนสามัญอีก 1 หลัง เพื่อให้เยาวชนในหมู่บ้านนี้ได้ศึกษาเหล่าเรียนและได้ตั้งชื่อโรงเรียนนี้ว่า “ท่าโขลง” ปัจจุบันนี้ชื่อ “ปากคลองสอง” ต่อมา โต๊ะกีหวัง วงสมัน ได้ขอจดทะเบียนมัสยิดต่อราชการ เมื่อปี พ.ศ. 2495 ทะเบียนเลขที่ 11/2495 และได้ขออนุญาตทางราชการในการสร้างโรงเรียนในเวลาใกล้เคียงกัน โดยมีโต๊ะกีหวัง วงสมัน เป็นอิหม่าม โต๊ะกีชม มาลี เป็นคอเต็บ นายหวัง แสงวงษา เป็นบิหลั่น หลังจากนั้นอิหม่ามหวัง วงสมัน ได้รับเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปทุมธานี
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2500 โต๊ะกีหวัง วงสมัน ได้ลาออกจากการเป็นอิหม่ามและได้พาครอบครัวไปอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ในขณะนั้นสัปปุรุษของมัสยิดมีประมาณ 100 ครอบครัว หลังจากโต๊ะกีหวัง วงสมันได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ชลบุรีแล้ว บรรดาสัปปุรุษได้ประชุมเลือกตั้งอิหม่ามขึ้นมาแทน โดยนายหวัง แสงวงษา เป็นอิหม่าม นายการีม แสงวงษา เป็นคอเต็บ นายซัน ยวงเงิน เป็นบิหลั่น ประมาณปี พ.ศ. 2514 นายหวัง แสงวงษาได้ลาออกจากอิหม่าม นายการีม แสงวงษา ได้ลาออกจากคอเต็บ สัปปุรุษได้เลือกนายณรงค์ หวังพิทักษ์ เป็นอิหม่าม นายเฉลิม มาลี เป็นคอเต็บ นายจีรวัฒน์ หวังพิทักษ์ เป็น บิหลั่น ในเวลาต่อมาในสมัยนายณรงค์ หวังพิทักษ์ เป็นอิหม่ามได้มีการบูรณะมัสยิดขึ้นใหม่ เป็นหลังคากระเบื้อง ฝาเป็นกระเบื้องแผ่นเรียบ ประมาณ ปี พ.ศ. 2527 หม่อมประภัสสร ได้ขายที่ดินทั้งหมดจำนวน 1,500 ไร่ ให้กับ นางบุหงา วชิรกรณ์วัฒนา เพื่อทำที่จัดสรร นางบุหงา ได้จัดสรรที่ดินให้มัสยิด 1 ไร่ ให้โรงเรียนที่อยู่ใกล้มัสยิด 4 ไร่ และให้สัปปุรุษที่เช่าทำนาครอบครัวละ 150 ตารางวา สัปปุรุษที่ไม่ได้ทำนาครอบครัวละ 25 ตารางวา ต่อมานายแฉล่ม มาลี ได้เสียชีวิต สัปปุรุษได้เลือกนายจีรวัฒน์ หวังพิทักษ์ เป็นคอเต็บและได้เลือกนายสมศักดิ์ มาลี ซึ่งเป็นบุตรนายแฉล่ม เป็นบิหลั่น ปีพ.ศ. 2535 นายณรงค์ หวังพิทักษ์ และนายจีรวัฒน์ หวังพิทักษ์ ได้ลาออกจากการเป็นอิหม่ามและคอเต็บ สัปปุรุษจึงได้เลือกนายปรีชา แสงวงษา เป็นอิหม่าม นายสมศักดิ์ แสงวงษา เป็นคอเต็บ ตำแหน่งบิหลั่นยังคงเป็น นายสมศักดิ์ มาลี เหมือนเดิม หลังจากนั้นประมาณ 5 ปี คณะกรรมการมัสยิดและสัปปุรุษทั้งหมดโดยการนำของอิหม่ามปรีชา แสงวงษา ได้ประชุมปรึกษาหารือเพื่อจะสร้างมัสยิดขึ้นมาใหม่ เพราะหลังเก่าทรุดโทรม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลตำบลท่าโขลง บางส่วนและจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค โดยจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างจนกว่าจะแล้วเสร็จ ราว 5 ถึง 7 ล้านบาท ในขณะที่ประชุมจะก่อสร้างมัสยิดนั้นมีเงินเพียง 23,000 บาท เท่านั้น มติที่ประชุมก็ให้รื้อถอนและสร้างมัสยิดใหม่จึงได้ดำเนินการวางรากฐานอาคารมัสยิดหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้นครึ่ง และอาคารอเนกประสงค์ติดกับมัสยิดอีกหนึ่งหลัง พร้อมกัน ตัวอาคารมัสยิดที่มีขนาดกว้าง ยาว 11x25 เมตร เสาบัง 2 ต้น โดม 3 ลูก อาคารอเนกประสงค์กว้าง ยาว 12x15 เมตร ได้ดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้แล้วเสร็จไปประมาณ 90% ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 7 ล้านบาท