จุฬาราชมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ตำแหน่ง "จุฬาราชมนตรี" แห่งราชอาณาจักรไทย
สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำเนียบศักดินาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1991 - 2031 บอกว่า "จุฬาราชมนตรี" บางแห่งเรียกว่า "จุลาราชมนตรี" กรมท่าขวาเป็นหัวหน้าฝ่ายแขก ไม่ปรากฏตัวตนว่าเป็นใครแผ่นดินสมเด็จพระเอกทศรถ พ.ศ. 2148 - 2163 ว่ามีตัวตนปรากฏอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ที่แน่ ๆ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2163 – 2171 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเฉกอะหะหมัด เข้ารับราชการ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเฉกอะหะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา จึงนับได้ว่าท่านเฉกอะหะหมัด เป็นปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งกรุงสยาม ทำหน้าที่เป็นทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ควบคุมเกี่ยวข้องกับชาวต่าง ประเทศ การรับแขกเมือง เก็บภาษีอากร สินค้าขาเข้า สินค้าขาออก เรื่องการเดินเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศกับควบคุมดูแลเกี่ยวกับกิจการทางด้านศาสนาอิสลามในราชอาณาจักรสยาม อ่านเพิ่มเติม
จุฬาราชมนตรีในยุคประชาธิปไตย
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และเป็นคนในสายสกุลเฉกอะหมัดที่นับถือนิกายชีอะหฺมาตลอด เปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งโดยตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้นับถือนิกายสุหนี่ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของมุสลิมในประเทศไทย
เริ่มแรกในรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยให้เป็นที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ ในด้านกิจการศาสนาอิสลาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2491 รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนให้จุฬาราชมนตรีเป็นที่ปรึกษากรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ดีหลังจากที่การประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ได้มีการระบุไว้ในกฎหมายนี้ว่า จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ให้คำปรึกษา และความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
- แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติศาสนาอิสลาม
- ประกาศผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
- ออกประกาศเกี่ยวกับวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
- เป็นประธานอำนวยการจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย
กฎหมายฉบับนี้ ยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้เป็นกิจลักษณะ โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประธานและกรรมการอื่นจากผู้แทนของคณะกรรมการอิสลามประจำจำหวัดและกรรมการที่จุฬาราชมนตรีเสนอชื่อ ซึ่งจะมีบทบาทในด้านการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ขณะที่สำนักจุฬาราชมนตรีนั้นเป็นหน่วยธุรการของจุฬาราชมนตรี
หลังจากประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวไม่นานนายประเสริฐ มะหะหมัดจุฬาราชมนตรีในขณะนั้นได้ถึงแก่อนิจกรรม และผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อมาคือนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ขณะมีอายุได้ 94 ปีเศษ ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับนี้ โดยดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 และวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศได้มีมติให้นายอาศิส พิทักษ์คุมพลเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553
-
เจ้าพระยาบวรราชนายก
(เฉกอะหะหมัด) -
พระยาจุฬาราชมนตรี
(แก้ว) -
พระยาจุฬาราชมนตรี
(สน) -
พระยาจุฬาราชมนตรี
(เชน) -
พระยาจุฬาราชมนตรี
(ก้อนแก้ว -มุฮัมมัดมะอ์ซูม) -
พระยาจุฬาราชมนตรี
(อากาหยี่) -
พระยาจุฬาราชมนตรี
(เถื่อน - มุฮัมมัดกาซิม) -
พระยาจุฬาราชมนตรี
(น้อย - มุฮัมมัดบาเกร) -
พระยาจุฬาราชมนตรี
(นาม - มุฮัมมัดตะกี) -
พระยาจุฬาราชมนตรี
(สิน - กุลาฮูเซ็น) -
พระยาจุฬาราชมนตรี
(สัน อหะหมัดจุฬา) -
พระจุฬาราชมนตรี
(เกษม อหะหมัดจุฬา) -
พระจุฬาราชมนตรี
(สอน อหะหมัดจุฬา) -
จุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์
(ซัมซุดดีน มุสตาฟา) -
จุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสตร์
(อิสมาแอล ยะห์ยาวี) -
จุฬาราชมนตรีประเสริฐ มะหะหมัด
(อะหมัด บินมะหะหมัด) -
จุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์
(-) -
จุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล
(-)