มัสยิดบ้านอู่
ซอย ซอยเจริญกรุง 46 ถนน ซอยเจริญกรุง ต.บางรัก อ.เขตบางรัก จ.กรุงเทพมหานคร 101500 0-2630-9423

ประวัติความเป็นมา
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เล่าขานต่อ ๆ กันมา กล่าวกันว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้อพยพชาวมุสลิมจากจังหวัดปัตตานีจำนวนหนึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือบางกอกในสมัยนั้น รวมทั้งกระจายไปตามต่างจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ อยุธยา ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี
ชุมชนมุสลิมบ้านอู่ ได้ก่อเกิดมาตั้งแต่สมัยนั้นเช่นกัน โดยผู้คนทั่วไปเรียนขานกันว่า “สุเหร่าแขก” ตามข้อความที่ปรากฏในโฉนดที่ดิน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 6 ทรงพระราชทานให้เป็นที่ตั้งของมัสยิดและกุโบร์ (สุสาน) ในปี ร.ศ. 130 ตรงกับ พ.ศ. 2455
แต่เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการถือครองทรัพย์สินในฐานะนิติบุคคล อัลมัรฮูมฮัจยีอัลดุลกาเด บินฮัจยีมะหะหมัด ซึ่งเป็นผู้ดูแลมัสยิดและกุโบร์อยู่ในขณะนั้น จึงได้แก้ชื่อในโฉนดจาก “ที่สุเหร่าและป่าช้าแขก” มาเป็น “นายหะยีอับดุลกาเด” ในปี ร.ศ. 131 หรือ พ.ศ. 2456
ด้วยพระเมตตาจากอัลลอฮ์ และวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลของฮัจยีอับดุลกาเด ท่านได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมที่ดิน กระทรวงเกษตร กระทรวงพระนครบาล เพื่อแสดงเจตนาโอนทรัพย์สินและที่ดินในนามของฮัจยีอัลดุลกาเด ให้เป็นสมบัติของมัสยิดบ้านอู่ ใครจะเข้าถือสิทธิยึดครองไม่ได้การดังกล่าวได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2462 แล้ว แต่ยังไม่เป็นผล หน่วยงานราชการเหล่านั้นเพียงแต่ได้รับทราบเรื่องและลงบันทึกไว้เท่านั้น
ในสมัยของอิหม่ามท่านต่อ ๆ มา แม้ว่าจะมีกฎหมายให้นิติบุคคลถือครองกรรมสิทธิในทรัพย์สินได้แต่การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เป็นชื่อของมัสยิด ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดขัดด้วยช่องทางด้านกฎหมาย รวมทั้งค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นค่าจดทะเบียนการโอนและค่าภาษี ต้องใช้เงินเป็นจำนวนที่สูงมาก เนื่องจากเป็นที่ดินที่อยู่ในย่านธุรกิจ
คณะกรรมการมัสยิดชุดปัจจุบัน ซึ่งได้รับการแต่งตั่งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2546 ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องรีบเร่งดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ให้เป็นชื่อของมัสยิดบ้านอู่โดยเร็ว ประกอบกับได้มีพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงเมื่อ พ.ศ. 2541 ให้ยกเว้นภาษี รวมทั้งลดค่าจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่มัสยิด ช่วยให้ภาระค่าใช้จ่ายในการโอนลดน้อยลงมาก ดังนั้น คณะกรรมการจึงได้ดำเนินการโอนที่ดินทั้งหมด ให้เป็นชื่อของมัสยิดบ้านอู่จนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2546
ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารมัสยิด กุโบร์ และที่ดินวากัฟ ซึ่งปลูกบ้านพักอาศัย มีเนื้อที่รวมกันทั้งสิ้น 2 ไร่
ที่มา https://masjid.islamicbangkok.or.th/masjid/id/19630