มัสยิดอั้ลกุ๊บรอ (คลองเคล็ด)


ซอย อ่อนนุช 29 ถนน สุขุมวิท 77 ต.สวนหลวง อ.เขตสวนหลวง จ.กรุงเทพมหานคร 10250   -



 



ประวัติความเป็นมามัสยิด 


                       เมื่อสมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้ยกทัพไปตีมลายู คือเมืองปัตตานีมาเป็นของไทย ท่านแม่ทัพของกรุงศรีอยุธยาได้สั่งให้กองทัพของกรุงศรีอยุธยากวาดต้อนเชลยศึกของมลายู (ตานี) เข้ามาไว้ในพระนครศรีอยุธยา และบรรดาเชื้อพระวงศ์ของมลายู (ตานี) ที่เป็นทหารถูกนำมากักกันไว้ที่แขวงเมืองพระนครเขื่อนขันธ์ คือ อำเภอประประแดง จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน เขตเมืองนครเขื่อนขันธ์ในขณะนั้นรวมถึงพระโขนงและสวนหลวง กทม. ในปัจจุบันด้วย 

 ท่านอับบ๊าส ท่านเป็นแม่ทัพของหัวเมืองมลายู (ตานี) แขวงเมืองนครเขื่อนขันธ์ บริเวณบ้านหัวป่า แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร (ในปัจจุบัน) และต่อมา ท่านอับบ๊าสก็ได้รับพระราชทานที่ดินพร้อมด้วยวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างมัสยิดจาก "สมเด็จพระยามหาศรีสุริยวงศ์" (สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) โดยได้รับพระราชทานนามของมัสยิดครั้งแรกว่า "สุเหร่าใหญ่" ซึ่งต่อมาได้มีการบูรณะ ปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นการก่อสร้างแบบก่ออิฐโบกปูนเมื่อมีการก่อสร้างสำเร็จแล้วจึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า "มัสยิดอั้ลกุ๊บรอ" (สุเหร่าใหญ่-ปากคลองเคล็ด) บางท่านเรียกว่ามัสยิดอั้ลกุ๊บรอแห่งอับบาส

                             "สุเหร่าใหญ่ หรือ มัส ยิดอั้ลกุ๊บรอ" (สุเหร่าใหญ่-ปากคลองเคล็ด) เป็นมัสยิดแห่งแรกในเขตนี้ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๒ (ต้นยุครัตนโกสินทร์ในสมัยรัชการ ที่ ๑) โดยท่านอั๊บบาสเป็นผู้ดำเนินการสร้างมัสยิดหลังนี้ ซึ่งท่านอั๊บบาสเป็นบรรพบุรุษ "มุสลิม" คนแรกที่มาจากเมืองปัตตานีและมาตั้งถิ่นฐานในเขตนี้ บรรดาบุตรหลานของท่านและบรรดาผู้ที่เคารพนับถือท่าน เรียกท่านว่า "โต๊ะโง๊ะ" อีหม่ามท่านแรกของมัสยิดแห่งนี้ก็คือ "ท่านอิหม่ามฮัจยีอั๊บบาส" ซึ่งท่านผู้นี้นับเป็นผู้มีคุณูปการแก่บรรดาบุตรหลานและบรรดาพี่น้องมุสลิมในพื้นที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก  ต่อมาครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ในสมัยท่านอิหม่ามฮัจยีหวัง เดวี มัสยิดมีอายุ ๑๙๐ ปี (ในขณะนั้น) ได้ชำรุดทรุดโทรมและไม่สามารถจะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีได้ดังเดิม

         คณะกรรมการบริหารมัสยิดในสมัยนั้น โดยการนำของท่านอิหม่ามฮัจยีหวัง เดวี ได้ประชุมปรึกษาหารือ และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทำการก่อสร้างอาคารมัสยิดเป็นเงินประมาณ ๕ ล้านบาท  โดยได้รับการบริจาคจากอัลมัรฮูมะฮฺฮัจยะฮฺมีนุฮฺ ซอเซวี เป็นจำนวนเงิน ๓ ล้านบาท และจากผู้มีจิตศร้ทธาบริจาคอีกจำนวนหนึ่ง เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จนกระทั่งแล้วเสร็จดังที่ได้เห็นในปัจจุบัน

        ลำดับอิหม่ามมัสยิดอั้ลกุ๊บรอ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้

          ๑.  (อัลมัรฮูม) อิหม่ามฮัจยีอับบ๊าส

          ๒.  (อัลมัรฮูม) อิหม่ามฮัจยีอับดุลกอเดร

          ๓.  (อัลมัรฮูม) อิหม่ามฮัจยีอับดุรเราะฮฺมาน

          ๔.  (อัลมัรฮูม) อิหม่ามฮัจยีมะรูฟ  เดวี

          ๕.  (อัลมัรฮูม) อิหม่ามฮัจยีอารี วัฒนจันทร์ (เดวี)

          ๖.  (อัลมัรฮูม) อิหม่ามฮัจยีหวัง  เดวี

          ๗. (อัลมัรฮูม) อิหม่ามฮัจยีอับดุลลอฮฺ สะและน้อย

          ๘.  (อัลมัรฮูม) อิหม่ามฮัจยีอะฮฺหมัด โสอุดร

          ๙.  (อัลมัรฮูม) อิหม่ามฮัจยีมูฮัมมัด อรุณพูลทรัพย์

                (๒๕๕๔-๒๕๕๘)

          อิหม่ามทั้ง ๙ ท่านดังกล่าวข้างต้นนี้ ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอิหม่ามจนถึงวัยชราทุกท่าน และอิหม่ามท่านสุดท้ายได้ถึงแก่อาญั้ลของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๘

          ปัจจุบัน

          - ฮัจยีริดวาน (สมศักดิ์) เดวี เป็นคอเต็บ และรักษาการอิหม่าม

          - ฮัจยีอับดุรเราะฮฺมาน (สมพงษ์) โพธิ์วรรณ เป็นบิหลั่น

          หากจะนับเวลาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างอาคารมัสยิดครั้งแรกจนกระทั่งถึงปัจจุบัน มัสยิดแห่งนี้จะมีอายุประมาณ ๒๒๘

          ต่อมา สัปปุรุษของมัสยิดอั้ลกุ๊บรอมีมากขึ้น และมีการขยายตัวของชุมชนเมืองในเขตกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงได้มีคณะสัปปุรุษของมัสยิดอั้ลกุ๊บรอ ในหลายหมู่บ้านแยกตัวเองออกไปจัดตั้งมัสยิดขึ้นใหม่  ๕  มัสยิด คือ

          ๑.  มัสยิดอัลเอี๊ยะติซอม (สุเหร่าใหม่หัวป่า)

          ๒.  มัสยิดอันวาริซซุนนะฮฺ (คลองเคล็ด)

          ๓.  มัสยิดเราะฮฺมาตุ้ลอิสลาม (สวนหลวง ร.๙)

          ๔.  มัสยิดดารุ้ลอามีน (ศรีนครินทร์)

          ๕.  มัสยิดริยาดุสซอลีฮีน (หมู่บ้านมิตรภาพ)



         ที่มา https://masjid.islamicbangkok.or.th/masjid/id/26536

         

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ โปรดยอมรับนโยบายคุกกี้เพื่อประสบการณ์การใช้บริการที่ดีที่สุดของท่าน ท่านสามารถศึกษาวิธีการตั้งค่าการควบคุมคุกกี้ของท่านผ่านนโยบายการใช้คุกกี้ของเราที่นี่

นโยบายการใช้คุกกี้ของเราที่นี่ ยอมรับ