มัสยิดดารู้ลมุตตะกีน (คู้ขวา)
ซอย สุเหร่าคู้วิทยา ถนน เลียบวารี ต.คู้ฝั่งเหนือ อ.เขตหนองจอก จ.กรุงเทพมหานคร 10530 02-543-1153

ประวัติความเป็นมามัสยิด
ประวัติมัสยิดบรรพชนมุสลิมที่อพยพมาจากเมืองปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราว พ.ศ. 2329 ในส่วนที่เป็นช้าราชบริพารในวังปัตตานี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้ตั้งถิ่นฐานพักอาศัยอยู่ที่ละแวกวัดตองปรุ ตำบลบางลำพู และบริเวณบ้านคอกวัว ถนนราชดำเนินกลางในปัจจุบัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการขุดคลองในกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นจำนวนมาก ย่านธุรกิจการค้าได้เกิดขึ้นบริเวณลำคลองเป็นตลาดน้ำแหล่งใหญ่ อยู่ที่สี่แยกมหานคร บรรพชนมุสลิม จากบางลำพูและบ้านคอกวัวส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายถิ่นทำมาหากินไปอยู่ที่หมู่บ้านมหานาค และจากสี่แยกมหานาคในสมัยต่อมาได้ขยับขยายออกไปทำการเกษตรในรอบนอกพระนคร เช่น ที่บ้านคู้ (บริเวณลำคลองแสนแสบส่วนที่คดคู้) ในอำเภอเจียรดับ ต่อมาเป็นอำเภอหนองจอก และละแวกใกล้เคียง เช่นบ้านลำหิน บ้านคลองสิบ เป็นต้น และบางส่วนได้ขยายวงออกไปไกลถึงบ้านบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ก็มี
เมื่อชุมชนมุสลิมจามกานครได้อพยพมาอยู่ที่บ้านคู้ ก็ได้มีการสร้างมัสยิดเป็นอาคารชั่วคราวเพื่อใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจต่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเริ่มต้นสร้างมัสยิดในปีใด
ต่อมาในปี ฮ.ศ. 1317 ตรงกับ พ.ศ. 2439 เมื่อ 108 ปีก่อน นายอุมัร หรือแชอุมารฺ ได้อุทิศที่ดินวะก๊อฟให้สร้างมัสยิดหลังนั้น เป็นหลังคามุงจาก ทรงปั้นหยา ใช้เวลาในการสร้าง 10 ปี แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2449 ในระยะเวลาต่อมาได้มีประชากรมุสลิมเพิ่มมากขึ้นจึงได้มีการขยายตัวอาคารมัสยิดโดยต่อเติมจากอาคารเดิมอีก หลักฐานของมัสยิดมีปรากฏที่ลายฉลุเหนือประตูทางเข้ามัสยิดด้านขวามือ เป็นภาษามาลายูแปลได้ข้อความว่า “มัสยิดแห่งนี้โดยความยินยอมของชาวตำบลนี้ ให้ ตวนฮัจยีอุมัร เป็นผู้สร้างประตูมัสยิดบานนี้ ในปี ฮ.ศ. 1319” และเหนือประตูด้านซ้ายมือมีใจความว่า “บิหลั่นจัน เป็นผู้สร้างประตูมัสยิดบานนี้ เสร็จในวันอาทิตย์ ต้นเดือนมุฮัรรอม ฮ.ศ. 1319”
ที่ดินบริเวณมัสยิดใช้เป็นที่ตั้งมัสยิดแปลงหนึ่งมีจำนวน 1 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวา ในส่วน กุโบร์ จำนวน 4 ไร่ 3 งาน 4 ตารางวา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 อิหม่ามในขณะนั้นคือนายหะยีฮาซัน อามีน ได้ขอจดทะเบียนมัสยิดเป็นนิติบุคคลชื่อ “มัสยิดดารุ้ลมุตตะกีน (คู้)” มีนายหะยีอุมารต หมัดมูซา เป็นคอเต็บ และนายหะยีมะดีเยาะ หริ่มเพ็ง เป็นบิหลั่น
มัสยิดดารุ้ลมุตตะกีน (คู้) มีที่ดินวะก๊อฟจำนวนมาก แต่เนื่องจากกฎหมายบ้านเมืองในสมัยนั้นอนุญาตให้มัสยิดมีที่ดินได้ไม่เกินจำนวน 50 ไร่ ในส่วนที่เกินคณะผู้ใหญ่ของมัสยิดจึงได้นำไป จดทะเบียนเป็นทรัพย์สินของ “มูลนิธิ” โดยในปัจจุบันที่ดินที่เป็นชื่อกรรมสิทธิ์ขยองมัสยิดมีจำนวน 111 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา และที่ดินวะก๊อฟจดทะเบียนสิทธิเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลธรรมอิสลาม ดารุ้ลมุตตะกีน (คู้ขวา) อีกจำนวน 500 ไร่เศษ