
เจ้าพระยาบวรราชนายก
(เฉกอะหะหมัด)
จุฬาราชมนตรี” ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำฝ่ายอิสลามในประเทศไทย ได้เริ่มขึ้นในสมัยแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163 – 2171) ในสมัยนั้น ได้มีชาวต่างชาติซึ่งนับถือศาสนาอิสลามได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยเข้ามาประกอบการค้า และเข้ารับราชการเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปลาย สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133 – 2148) มีพ่อค้าชาวเปอร์เซียสองพี่น้อง คนพี่ชื่อ “เชคอะหมัด” คนน้องชื่อ “เชคสะอิ๊ด” เป็นชาวเปอร์เซีย นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ซึ่งคนไทยโดยทั่วไปเรียกว่า ”แขกเจ้าเซ็น” พร้อมด้วยบริวาร ได้เข้ามาตั้งรกรากค้าขายอยู่แถวท่าภาษี สองพี่น้องนี้ทำการค้าโดย ซื้อสินค้าพื้นเมืองจากไทยบรรทุกสำเภาออกไปจำหน่ายต่างประเทศและซื้อของจาก ต่างประเทศเข้ามาขาย ณ กรุงศรีอยุธยา เรียกว่าทำการส่งออกและนำเข้าโดยสมบูรณ์ทั้งขึ้นทั้งล่อง การค้าของบุคคลทั้งสองเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ จนถึงขั้นเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาทีเดียว ท่านเชคสะอิ๊ดอยู่ไม่นานก็กลับไปกรุงเปอร์เซีย และมิได้กลับมาอีกเลยตลอดชีวิต ส่วนท่านเชคอะหมัดนั้นได้สมรสกับสุภาพสตรีไทยและตั้งรกรากอยู่ในกรุง ศรีอยุธยาตลอดชีวิตของท่าน
ในสมัยแผ่น ดินพระเจ้าทรงธรรม ท่านเชคอะหมัดเป็นผู้เจนจัดในด้านการค้ากับต่างประเทศ ได้ช่วยราชการแผ่นดิน โดยร่วมกับพระยาพระคลังปรับปรุงการกรมท่า ทำให้งานราชการด้านดังกล่าวเจริญก้าวหน้ามาก ความทราบถึงเบื้องพระยุคลบาท จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวาและว่าที่จุฬาราชมนตรีเป็นผู้ดูแลควบคุมชาวมุสลิมอีกด้วย นับ ได้ว่าท่านเชคอะหมัดเป็นปฐมจุฬา ราชมนตรีของประเทศไทย
เมื่อเจ้าพระยาพระคลังถึงแก่อนิจกรรมก็ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเป็นเจ้ากรมเป็นเจ้ากรมท่ากลางอีกตำแหน่ง หนึ่งด้วย นับได้ว่าท่านผู้นี้ได้ว่าที่เสนาบดีการต่างประเทศ และการพาณิชย์ของประเทศไทยในสมัยนั้นโดยสมบูรณ์ทีเดียว ครั้งที่พวก กบฎญี่ปุ่นก่อการจลาจลขึ้น มีแผนการจับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินก็ได้พระยามหา อำมาตย์กับพระยาเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐี รวมกำลังไทยพุทธ กับชาวมุสลิมเข้าปราบการจลาจลครั้งนั้นได้ทันท่วงที บ้านเมืองกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ความชอบครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์เลื่อนเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ว่าที่สมุหนายกอัคร มหาเสนาบดีปักษ์ใต้ และให้พระเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เลื่อนเป็นเจ้าพระยาเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐีว่าที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ต้นแผ่นดินพระเจ้าประสาททอง (พ.ศ. 2173 – 2198) ซึ่งแต่เดิมคือเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งเคยเป็นสหายสนิทร่วมกันมาแต่เดิม ทรงเห็นว่าเจ้าพระยาเชคอะหมัดรัตนราชเศรษฐี มีอายุชราภาพมากแล้ว จึงทรงโปรดให้พ้นจากตำแหน่งสมุหนายก เลื่อนเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก อยู่ในตำแหน่งจางวางมหาดไทย คือตำแหน่งที่ปรึกษาราชการทั่วไป ท่านได้อยู่ในตำแหน่งนี้ราวปีเศษก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุได้ 88 ปี ศพของท่านได้นำไปฝัง ณ สุสานแขกเจ้าเซนบ้านท้ายคู ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านมักเรียกว่า “ท่านเจ้าประคุณกลางเมือง” ปัจจุบันอยู่ในบริเวณวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ท่านเชคอะหมัดหรือท่านเจ้าพระยาบวร ราชนายก นี้นับเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทยและชาวมุสลิมชีอะห์ถือว่าท่านผู้ นี้เป็นผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เข้ามาสู่เมืองไทยเป็นคนแรก ความจริงศาสนาอิสลามได้เข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาก่อน แล้ว โดยเฉพาะชาวมุสลิมทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปจนถึงมลายู มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามอยู่มากมาก่อน และบรรดาเจ้าเมืองทางภาคใต้ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามแต่เป็นนิกาย ซุนนี ท่านเชคอะหมัดหรือท่านเจ้าพระยาบวรราชนายกนี้ นับเป็นต้นตระกูลของสกุล อะหมัดจุฬา, จุฬารัตน์, บุนนาค, ศรีเพ็ญ, บุรานนท์, ศุภมิตร, จาติกรัตน์ ฯลฯ