มัสยิดคอลิดีน
ซอย ประชาอุทิศ 54 แยก 17 ถนน ประชาอุทิศ ต.ทุ่งครุ อ.เขตทุ่งครุ จ.กรุงเทพมหานคร 10140 086-780-6041
ประวัติความเป็นมาของ มัสยิดคอลิดีน
ชุมชนคอลิดีนเกิดจากการขยายตัวของกลุ่มชนมุสลิมเชื้อสายมลายูที่อพยพมาอยู่รวมกัน ณ บ้านปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในอดีตคนในย่านชุมชนคอลิดีน จะต้องเดินเท้าหรือพายเรือเพื่อไปละหมาดญุมุอะห์ หรือละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดดารอสอาดะห์ ปากลัด พระประแดง ต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น กอปรกับความไม่สะดวกในการเดินทางเพราะมีระยะทางที่ห่างไกล เหล่าผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนจึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างมัสยิดขึ้น เพื่อปฏิบัติละหมาดฟัรฎู 5 เวลา และละหมาดญุมุอะห์ จึงได้ร่วมมือร่วมใจกันก่อตั้งมัสยิดคอลิดีนขึ้น โดยการนำของตวนฮัจยีชะลอ (อับดุลเลาะห์) ศรีสุวรรณฑา เราะฮิมะฮุลเลาะห์ โดยรวบรวมทุนทรัพย์ของสมาชิกในชุมชนเพื่อซื้อบ้านเรือนไทยทรงปั้นหยา 2 ชั้น มาสร้างเป็นมัสยิด ในราคาประมาณหลักหมื่น โดยมีตวนฮัจยีวาฮับ บินฮาซัน เราะฮิมะฮุลเลาะห์ หรือแชร์เลาะห์บ้านแดงเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักพร้อมทั้งวากาฟที่ดินเพื่อการก่อสร้างมัสยิด จำนวน 5 ไร่ มัสยิดหลังดังกล่าวได้เริ่มละหมาดตั้งแต่สมัยแชร์โต๊ะมะห์ (แชร์อ้วน) เราะฮิมะฮุลเลาะห์ บิดาอิหม่ามอรุณ (ฮารูณ) นุชมี เราะฮิมะฮุลเลาะห์ เป็นคนนำละหมาด เมื่อประมาณ 70 กว่าปีที่ผ่านมา หรือประมาณปีพุทธศักราช 2485 และจัดให้มีการละหมาดญุมุอะห์ขึ้นด้วย ซึ่งขณะนั้นมีผู้ร่วมละหมาดประมาณ 40 คน วันไหนจำนวนผู้มาละหมาดไม่ครบ 40 คน ก็จะละหมาดดุฮ์รี่หลังละหมาดญุมุอะห์ด้วย เป็นการเผื่อไว้ โดยผู้ขอใบอนุญาตและเป็นอิหม่ามอย่างเป็นทางการคนแรกคือตวนฮัจยีวาฮับ บินฮาซัน หรือแชร์เลาะห์บ้านแดงนั่นเอง หลังจากนั้นได้จดทะเบียนมัสยิดเป็นนิติบุคคลในปีพุทธศักราช 2492
หลังจากที่ได้ใช้เรือนปั้นหยาเป็นสถานที่ละหมาดอยู่ระยะหนึ่ง ได้เกิดแนวคิดที่จะสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ขึ้นเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ซึ่งขณะนั้นเงินที่จะใช้ในการก่อสร้างก็ยังไม่มี แต่หลังจากที่ตวนฮัจยีวาฮับจัดสรรที่ดินส่วนตัวขายได้เงินจำนวนหนึ่ง การดำเนินการก่อสร้างจึงเริ่มต้นขึ้น โดยตวนฮัจยีวาฮับ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญส่วนที่เหลือคนบริเวณรอบ ๆ ก็ช่วยให้การสนับสนุนบ้างคนละเล็กคนละน้อยตามความสามารถของแต่ละคน ใช้เวลาในการดำเนินการก่อสร้างอยู่ประมาณ 1 ปีเต็ม อาคารมัสยิดจึงแล้วเสร็จ
ส่วนบ้านเรือนไทยทรงปั้นหยาซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่ละหมาด ได้ถูกนำมาใช้เป็นโรงเรียนสามัญอยู่ระยะหนึ่ง โดยมีบังฟา ซึ่งเป็นบุตรชายของตวนฮัจยีวาฮับ เป็นครูผู้สอน และในเวลาเดียวกันก็ใช้เป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอานในช่วงเย็น ส่วนโรงเรียนสามัญนั้นเปิดทำการเรียนการสอนอยู่ระยะหนึ่งจากนั้นจึงได้ปิดตัวลงด้วยสาเหตุใดไม่ปรากฏ แต่บ้านหลังดังกล่าวยังคงใช้เป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอานอยู่อย่างต่อเนื่อง
เมื่อตวนฮัจยีวาฮับ ป่วยลง ได้มอบหมายให้ตวนฮัจยีอับดุรรอชีด โพธิ์ดำ (แชร์ซิบ) เราะฮิมะฮุลเลาะห์ เป็นผู้นำละหมาดแทน และเมื่อตวนฮัจยีวาฮับเสียชีวิตลง สมาชิกในชุมชนได้หารือกันและมอบหมายให้ตวนฮัจยีอับดุรรอชีดทำหน้าที่เป็นอิหม่ามแทน แต่ตวนฮัจยีอับดุรรอชีดปฏิเสธ ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้อิหม่ามนุช ซึ่งเดิมเป็นคนคลอง 13 ปทุมธานี เป็นอิหม่ามคนที่ 2 หลังจากอิหม่ามนุชได้ทำหน้าที่อิหม่ามอยู่ระยะหนึ่ง ได้ลาออกจากตำแหน่งอิหม่าม และจากนั้นอิหม่ามสนั่น ศักกาฟ ได้รับการคัดสรรให้เป็นอิหม่ามคนที่ 3 ซึ่งท่านได้ทำหน้าที่เป็นอิหม่ามอยู่ระยะเวลาสั้น ๆ ก็ได้ขอลาออก ต่อจากนั้นสัปปุรุษมัสยิดคอลิดีนก็ได้พร้อมใจกันมอบอะมานะฮฺการเป็นอิหม่ามให้กับครูอรุณ นุชมี ซึ่งในขณะรับตำแหน่งนั้นท่านรับราชการเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงเรียนนาหลวง เป็นอิหม่ามคนที่ 4 ในช่วงการเป็นอิหม่ามของท่านได้ก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ขึ้นเป็นอาคาร 2 ชั้น ในปีพุทธศักราช 2540 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวฮัจยะฮฺซะอาดะห์ แม้นมินทร์ และฮัจยะห์ฮาลีมะห์ แม้นมินทร์ หลานสาวของตวนฮัจยีวาฮับ ได้บริจาคที่ดินให้มัสยิดเพิ่มเติมอีกประมาณ 1 งาน
เมื่ออิหม่ามอรุณ นุชมี เสียชีวิตลงในปีพุทธศักราช 2554 นายอดิศักดิ์ (อับดุรร๊อซซ๊าก) นุชมี ซึ่งเป็นบุตรชายของอิหม่ามอรุณได้รับการคัดสรรจากสัปปุรุษให้ทำหน้าที่อิหม่าม ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน
ที่มา https://masjid.islamicbangkok.or.th/masjid/id/45487#prettyPhoto