มัสยิดยามีอุลอิสลาม (รามคำแหง)


ซอย รามคำแหง 53 ถนน รามคำแหง ต.หัวหมาก อ.เขตบางกะปิ จ.กรุงเทพมหานคร 10240   087-056-7191


 

  ประวัติความเป็นมามัสยิด

 

              ประวัติเริ่มต้นของมัสยิด ยามีอุลอิสลาม (สุเหร่าวัดตึก) แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ในราวปี พ.ศ. 2440 ณ บริเวณหมู่บ้านวัดตึก ตำบลหัวหมาก ได้มีกลุ่มมุสลิมอพยพมาจากบ้านสามอิน บ้านคลองตัน บ้านคลองกะจะ มารวมตัวกัน ตั้งเป็นชุมชนมุสลิมแห่งใหม่ขึ้น มุสลิมกลุ่มดังกล่าวได้ร่วมกันสร้างสถานประกอบกิจกรรมทางศาสนาขึ้นเรียกว่า บาแล เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวมีผู้นำคนแรกคือ ฮัจยีมูฮำหมัด  (แหยม) หลังจากนั้นเมื่อชุมชนเกิดการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น บาแล หลังเก่าไม่พอกับจำนวนผู้มาปฏิบัติ ท่านผู้นำคือ ฮัจยีอิบรอเฮม  เกิดอยู่ จึงได้วะก๊อฟ (อุทิศ) ที่ดินส่วนตัว จำนวน 600 ตารางวา เพื่อใช้เป็นที่ตั้งมัสยิดยามีอุลอิสลาม กุโบร์ (สุสาน) และบาแลสอนศาสนา และได้รื้อ บาแล เพื่อสร้างมัสยิดยามีอุลอิสลาม ชั้นเดียว และในปี พ.ศ. 2460 สัปปุรุษเพิ่มมากขึ้น จึงได้ขยายเพิ่มชั้นที่ 2 โดยใช้พื้นไม้ และเมื่อมี พ.ร.บ. มัสยิดอิสลาม ใช้บังคับในปี พ.ศ. 2490 มัสยิดแห่งนี้จึงได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2492 ในชื่อเป็นทางการว่า มัสยิดยามีอุลอิสลาม (สุเหร่าวัดตึก) ทะเบียนเลขที่ 52 ที่อยู่ 98 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ

             ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 โดยการนำของท่านอิหม่ามเด๊ะ  ขำวิลัย และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดพร้อมทั้งสัปปุรุษขณะนั้น ลงมติให้สร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่เพื่อรองรับสุปปุรุษผู้คนที่มาร่วมละหมาดได้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากในสมัยนั้นทางราชการได้มาก่อสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ และจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 พร้อมทั้งจัดงานแสดงสินค้านานาชาติขึ้น ในบริเวณฝั่งตรงข้ามกับมัสยิดยามีอุลอิสลาม ประกอบกับประชาชนจากถิ่นอื่นได้อพยพเข้ามาประกอบอาชีพในบริเวณนี้ เป็นจำนวนมากเป็นทวีคูณ อาคารมัสยิดหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่สูง 1 ชั้นครึ่ง ตกแต่งผิวภายนอก และภายในด้วยหินอ่อนจากอิตาลี โดยคุณไพจิตร  พงศ์พรรณพฤกษ์ สถาปนิกมุสลิมเป็นผู้ออกแบบการก่อสร้างมัสยิดยามีอุลอิสลาม และได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2514 (รวมค่าก่อสร้างประมาณ ห้าล้านบาท) และในปีเดียวกันนี้กับทางราชการได้ประกาศจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงขึ้น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิด โดยใช้อาคารที่แสดงสินค้านานาชาติเป็นสำนักงานและอาคารเรียนของคณะต่างๆ มหาวิยาลัยรามคำแหงอยู่ฝั่งตรงข้ามกับมัสยิดยามีอุลอิสลาม ประชาชนทั่วไปจึงเปลี่ยนการเรียกชื่อมัสยิดใหม่ จาก มัสยิดยามีอุลอิสลาม (สุเหร่าวัดตึก) เป็น มัสยิดยามีอุลอิสลาม (รามคำแหง) หรือ มัสยิดหน้าราม

            ต่อมาสัปปุรุษ และนักศึกษามุสลิมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มาร่วมละหมาดวันศุกร์เป็นจำนวนมาก ตัวอาคารมัสยิดไม่พอกับจำนวนของผู้ที่มาปฏิบัติศาสนกิจ อิหม่ามซุกรี่  ฉิมหิรัญ และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ดำเนินการขยายตัวอาคารมัสยิดออกทางทิศเหนือ และทิศใต้จนเต็มพื้นที่ติดขอบรั้วริมคลองแสนแสบ แต่รูปทรงยังยึดสถาปัตยกรรมเดิม สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 7,359,900 บาท (เจ็ดล้านสามแสนห้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยบาทถ้วน) ใช้เวลาในการก่อสร้าง 1 ปีเต็ม ในอาคารมัสยิดปัจจุบันประกอบด้วยพื้นที่สำหรับละหมาดของชายและหญิง แยกออกจากกันเป็นกิจจะลักษณะ มีห้องประชุมขนาด 15 ที่นั่ง พร้อมอุปกรณ์ในการประชุมครบสมบูรณ์


              ที่มา https://masjid.islamicbangkok.or.th/masjid/id/23909

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ โปรดยอมรับนโยบายคุกกี้เพื่อประสบการณ์การใช้บริการที่ดีที่สุดของท่าน ท่านสามารถศึกษาวิธีการตั้งค่าการควบคุมคุกกี้ของท่านผ่านนโยบายการใช้คุกกี้ของเราที่นี่

นโยบายการใช้คุกกี้ของเราที่นี่ ยอมรับ