มัสยิดอัลอะติ๊ก (สุเหร่าเก่า)
หมู่บ้าน/ชุมชน สวนหลวง1 ซอย เจริญกรุง103 ถนน เจริญกรุง ต.วัดพระยาไกร อ.เขตบางคอแหลม จ.กรุงเทพมหานคร 10120 0-2291-8605

มัสยิดอัล-อะตี๊ก ก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2352 เดิมชื่อ “สุเหร่าสวนหลวง” แต่ด้วยการที่เป็นมัสยิดแห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้น จึงมีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ ตามความเห็นของพี่น้องมุสลิมในช่วงนั้นเป็น “สุเหร่าเก่าสวนหลวง”
เมื่อปี พ.ศ.2328 ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงได้โปรดเกล้าให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกทัพไปปราบพม่าทางใต้และเลยไปตีเมืองปัตตานี และได้ต้อนผู้คนจากปัตตานีซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมจำนวน 4,000 คน มากรุงเทพฯ โดยมอบหมายให้นายกองคุมปัตตานีในเวลานั้นคือ “ตวนกูมะหมูด” ชาวไทรบุรีผู้ใต้บังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือที่บรรพบุรุษของอัล-อะตี๊กรู้จักในนาม “ดาโต๊ะสมเด็จ” ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการในสมัยนั้น
ในจำนวนชาวมุสลิม 4,000 คนที่ถูกต้อนมานั้นได้กระจายกันไปอยู่ตามที่ต่างๆตามที่ดาโต๊ะสมเด็จท่านกำหนดให้ คือถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์ขุนนางจะนำไปพักอาศัยที่สี่แยกบ้านแขก ส่วนชาวบ้านทั่วไปจะนำไปพักอาศัยที่ถนนตกถึงบ้านอู่ (บางรักปัจจุบัน) ประตูน้ำ (คลองแสนแสบ) ปากลัด และหัวเมืองโดยรอบกรุงเทพฯ ส่วนชาวมุสลิมจากปัตตานีส่วนหนึ่งได้ถูกกวาดต้อนให้มาอยู่ที่ตำบลสวนหลวง (ซอยเจริญกรุง 103 ปัจจุบัน) การเป็นอยู่ของชาวมุสลิมมักจะรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มและต้องมีการปฏิบัติศาสนากิจคือการทำนมาซ ท่านดาโต๊ะสมเด็จในเวลานั้นคือ ทัต บุญนาค ผู้สำเร็จราชการพระนครกรุงเทพฯจึงได้ประทานที่ดินตำบลสวนหลวงให้ชาวมุสลิมปัตตานี ตั้งรกรากกันอยู่อาศัยเป็นการถาวรที่ตำบลนี้เอง “สุเหร่าสวนหลวง” จึงได้ถูกสร้างขึ้นเป็นเรือนไม้หลังแรกในย่านถนนตก ในราวปี พ.ศ.2352 โดยมีตวนกูมะหมูดแห่งไทรบุรีดำรงตำแหน่งอิหม่ามคนแรก และสุเหร่าหลังอื่นๆจึงได้มีการสร้างขึ้นตามกันมาตามกาลเวลา ทำให้สุเหร่าสวนหลวงถูกเติมคำว่า “เก่า” ตามความหมายของบรรพบุรุษสวนหลวง ชื่อจึงกลายเป็น “สุเหร่าเก่าสวนหลวง” และเรียกติดปากกันตลอดว่า “สุเหร่าเก่า”
การปกครองดูแลสมัยนั้นนอกจากดาโต๊ะสมเด็จแล้วยังมีเจ้านายผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปกครองดูแลชาวมุสลิมปัตตานีถูกจำกัดบริเวณแวะเวียนมาดูแลตลอดคือเจ้าพระยาสุรวงศ์ชัยวัฒน์ (เจ้าคุณทหาร) เจ้าจอมมารดาโหมด เจ้าจอมมารดาแพ และท้ายสุดกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เป็นเจ้านายองค์สุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับชาวอัล-อะติ๊ก จวบจนประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความสัมพันธ์ของเจ้าขุนมูลนายกับชาวสวนหลวงจึงได้สิ้สุดลงในปี พ.ศ. 2475
ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน 2495 ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่ออีกครั้งจาก “สุเหร่าเก่าสวนหลวง” เป็น “มัสยิดอัล-อะตี๊ก” เนื่องจากมีระเบียบบังคับให้ขึ้นทะเบียนเป็นมัสยิดตามพระราชบัญญัติกรมการศาสนา โดยผู้ก่อตั้งชื่ออย่างเป็นทางการและใช้มาจวบจนปัจจุบันคือ ครูอะหมัด วาฮาบ หรือ เช็คอะหมัด วาฮาบ มะนังกะเบา ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถือจากชาวอัล-อะตี๊กนั่นเอง