มัสยิดดารุ้ลมู่ฮาญี่รีน (ดินแดง)
ซอย ชานเมือง ถนน ประชาสงเคราะห์ ต.ดินแดง อ.เขตดินแดง จ.กรุงเทพมหานคร 10320 02-644-1989

ประวัติความเป็นมามัสยิด
ณ บริเวณที่ตั้งมัสยิดดารุ้ลมู่ฮาญีรีน แต่เดิมนั้นเป็นทุ่งนากว้าง แต่ก็ไม่ห่างจากพระนครเท่าใดนัก เรียกได้ว่าเป็นแถบชานพระนคร เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ มีผู้ดำริจัดสรรที่ดินแบ่งขายและทำถนนซอยเข้าบริเวณจัดสรร และได้เรียกชื่อถนนซอยนี้ว่า “ ซอยชานเมือง ” จนกระทั่งทุกวันนี้ ซอยชานเมืองมีเส้นทางติดต่อเชื่อมกับซอยพร้อมพรรณ ( ร.ร.พร้อมพรรณ ) และเชื่อมกับซอยอาคารสงเคราะห์ห้วยขวางด้วย ทั้งซอยพร้อมพรรณและซอยอาคารสงเคราะห์เป็นเส้นทางที่เชื่อมกับถนนดินแดงทั้งสองซอย
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ พี่น้องมุสลีมีนหลายครอบครัว ซึ่งพักอาศัยอยู่ ณ บริเวณสามเหลี่ยม ถนนดินแดง ได้เริ่มอพยพย้ายที่พักอาศัยไปอยู่ ณ บริเวณซอยชานเมือง ( ห้วยขวาง ) เขตอำเภอบางกะปิ ( ปัจจุบันเป็นท้องที่ของอำเภอพญาไท ) การที่อพยพก็เนื่องจากที่ดินที่ปลูกบ้านพักอาศัยอยู่นั้น เป็นที่ดินของกรมประชาสงเคราะห์ และทางราชการต้องการสร้างอาคารถาวร ณ บริเวณนั้น ดังปรากฏแก่สายตาของท่านที่ผ่านไปมาอยู่ขณะนี้
การอพยพของพี่น้องมุสลิมีนไปยังบริเวณซอยชานเมืองกระทำกันอยู่เรื่อยๆ จนเกิดเป็นชุมนุมชนมุสลิมที่หนาแน่น เมื่อเกิดเป็นชุมนุมที่หนาแน่นขึ้นแล้ว ก็เกิดความคิดว่า ควรที่จะมีศูนย์รวมขึ้นในชุมนุมแห่งนี้ ความคิดเหล่านี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในครั้งแรก ๓ คน คือ นายประวิทย์ พูลสวัสดิ์ นายทองคำ มิ่งสมร และนายอับดุลเลาะห์ มูซา เมื่อได้ปรึกษาหารือกันจนเป็นที่ตกลงใจแล้ว ก็ได้นัดหมายเชิญบรรดามุสลิมีนในกลุ่มนี้มาปรึกษาหารือกันเป็นส่วนรวมอีกครั้งหนึ่ง การปรึกษาหารือกันกระทำที่บ้านของ นายประวิทย์ พูลสวัสดิ์ และมีผู้มาร่วมปรึกษาหารือกันในครั้งนั้นประมาณ ๔๐ คน เมื่อได้ปรึกษาหารือกันแล้ว ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะสร้างมัสยิดขึ้น จึงได้พิจารณาตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อสร้างขึ้นชุดหนึ่ง จำนวน ๑๕ คน จากการประชุมของคณะกรรมการครั้งแรก ที่ประชุมได้พิจารณาเลือกบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการฯ และได้ลงมติเอกฉันท์ให้ นายประวิทย์ พูลสวัสดิ์ เป็นผู้ทำหน้าที่ประธานฯ
ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างฯ โดยมี นายทองคำ มิ่งสมร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงและได้จัดซื้อที่ดินไว้ ๙๐ ตารางวา ในราคาตารางวาละ ๓๐๐ บาท พวกเราได้ช่วยกันสละทรัพย์คนละเล็กละน้อย ตามกำลังความสามารถ พวกเราส่วนมากมีฐานะค่อนข้างขัดสน หรืออยู่ในฐานะหาเช้ากินค่ำนั่นเอง การดำเนินการในเรื่องนี้ จึงเป็นไปด้วยความขลุกขลักพอสมควรทีเดียว แต่ก็ด้วยเดชะพระบารมีแห่งเอกองค์อัลเลาะฮ์ ( ซ.บ.) ได้โปรดประธานฮีดายะฮ์ ให้คณะของเราได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องมุสลีมีนอย่างอบอุ่นใจยิ่ง
การดำเนินการก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๘ โดยได้ทำพิธีวางรากฐาน เวลา …………… น. พิธีในวันนั้นมีพี่น้องมุสลีมีนไปร่วมให้กำลังใจอย่างอบอุ่น และในวันนั้นมีท่านผู้ใหญ่ในวงการมุสลิมได้กรุณาไปร่วมด้วยหลายท่าน และใคร่จะขอกล่าวนามไว้ ณ ที่นี้เพียง ๒ – ๓ ท่าน คือ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสอูดีอารเบียประจำประเทศไทย ( แช็คอับดุรเราะฮ์มาน อัลอิมรอน ), ท่านครูอับดุลเลาะฮ์ สี่แยกมหานาค, และตวนฮัจยีซัน โยธาสมุทร ยังความปลาบปลื้มแก่พวกเราสุดจะพรรณา
ในวันทำพิธีวางรากฐานมัสยิดฯ นั้น ฯพณฯ อับดุรเราะฮ์มาน อัลอิมรอน เอกอัครราชทูตสอูดีอารเบียประจำประเทศไทย (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ) ได้กรุณาถามความเป็นมาของพวกเราว่า มาจากแห่งหนตำบลใด พวกเราได้ชี้แจงให้ท่านทราบว่า อพยพมาจากสามเหลี่ยม ถนนดินแดงบ้าง และจากตำบลอื่นๆ บ้าง คุณครูสอิ๊ด ประภาพ วิจิตรตระการสพ แห่งอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ได้กรุณาเป็นล่ามให้ เมื่อท่านได้ทราบความเป็นมาโดยละเอียดแล้ว ท่านบอกว่าเห็นใจและปลื้มใจมาก และกรุณาดำริว่า โดยที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นผู้ที่อพยพมาจากตำบลต่างๆ เป็นส่วนมาก มัสยิดหลังนี้จึงสมควรให้ชื่อว่า “ ดารุ้ลมู่ฮาญีรีน ” เพื่อเป็นอนุสรณ์ และชื่อนี้เป็นชื่อที่ประธานกรรมการดำเนินการก่อสร้างมีความประสงค์อยู่ก่อนแล้ว
การก่อสร้างฯ ดำเนินการมาตั้งแต่ ๑๔ เมษายน ๒๕๐๘ จนถึงบัดนี้ ได้อาคารมัสยิดฯ พอเป็นรูปเป็นทรง หลังอาคารยังไม่เรียบร้อยพอที่จะกันแดดกันฝนได้ และถึงกระนั้นความจำเป็นในการทำยุมอั๊ตสำคัญกว่า แม้ว่าระหว่างทำพิธียุมอั๊ตฝนจะตกลงมาหรือแสงแดดจะส่องเจิดจ้า หาใช่จะเป็นอุปสรรคในการทำยุมอั๊ตไม่ จึงเราทั้งหลายได้พร้อมใจกันเปิดทำพิธียุมอั๊ตขึ้นเป็นปฐม เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๑๑ และมีท่านผู้ทรงคุณวุฒิได้กรุณามาร่วมในพิธีเปิดยุมอั๊ตจำนวนหลายท่าน นับเป็นเนี๊ยะมัตและบารอกั๊ตอย่างดียิ่ง สมดังเจตนาแล้ว